จับปลาสองมือ
ทุกคนคงเคยได้ยินสุภาษิตโบราณที่ว่า “อย่าจับปลาสองมือ" แต่มันยังใช้ได้กับปัจจุบันอยู่หรือเปล่า?
มีแนวคิดหนึ่งที่ผมรู้สึกว่ามันเข้ากับยุค AI นี้คือ “Ambidextrous Leadership” หรือภาวะผู้นำถนัดสองมือ แนวคิดคือเราต้องจับปลาให้ได้ทั้งสองมือ มือข้างหนึ่ง มือที่เราถนัด เราต้องจับปลาด้วยมือนี้ให้ดีที่สุด มือข้างนี้เรียกว่า Exploit มันคือการบริหารจัดการธุรกิจในปัจจุบันให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งก็คือการทำสิ่งที่เราทำอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้น, ลดต้นทุน, เพิ่มกำไร, ทำให้ลูกค้าพึงพอใจ, และบรรลุเป้าหมาย มันคือโลกของความแน่นอน, การวัดผลที่ชัดเจน, และการดำเนินงานที่เป็นเลิศ ซึ่งเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เลย เป็นมือข้างที่ทำให้องค์กรอยู่รอดถึงวันพรุ่งนี้
ส่วนมืออีกข้างหนึ่ง ข้างที่เรายังไม่ถนัด เราต้องฝึกมือข้างนี้หรือหาวิธีจับปลาแบบใหม่ๆ ที่เราไม่เคยทำมาก่อน มือข้างนี้เรียกว่า Explore มันคือการสำรวจอนาคต, การทดลองทำสิ่งใหม่, การสร้างนวัตกรรม, การยอมรับความเสี่ยงและความล้มเหลวที่อาจเกิดขึ้นได้ และในยุคสมัยนี้ “AI” ก็คือมหาสมุทรแห่งใหม่ที่ใหญ่ที่สุดที่เราต้องส่งเรือออกไปสำรวจ เราอาจจะไม่รู้ว่าจะเจออะไร อาจจะเสียงบประมาณไปกับการทดลองที่ไม่เกิดผลในระยะสั้น แต่ถ้าเราไม่ยอมใช้มือข้างนี้เลย เราก็จะติดกับการเป็นแค่มือเสริมมือข้างที่เราถนัด
และความยากที่แท้จริงก็อยู่ตรงนี้… ธรรมชาติของมือสองข้างนี้มันขัดแย้งกันโดยสิ้นเชิง มือข้างถนัด (Exploit) ต้องการความแน่นอน, แผนงานที่ชัดเจน, และผลตอบแทนที่คาดการณ์ได้ ในขณะที่มือข้างที่ไม่ถนัด (Explore) ต้องการอิสระ, ความยืดหยุ่น, และงบประมาณสำหรับการ “ลองผิด” โดยที่ยังไม่มีใครรับประกันว่าจะ “ลองถูก” เมื่อไหร่
การบริหารจัดการความขัดแย้งนี้คือความยาก เราต้องจัดสรรทรัพยากรให้หน่วยรบ BAU ที่ต้องปฏิบัติภารกิจปัจจุบันให้ลุล่วง ไปพร้อมๆ กับการให้ทุนสถาบันวิจัยที่กำลังพัฒนายานสำรวจโอกาสใหม่ ซึ่งทั้งสองอย่างสำคัญไม่แพ้กัน แต่ใช้ตรรกะและตัวชี้วัดแบบเดียวกันไม่ได้เลย ถ้ามัวแต่ Exploit อย่างเดียว เราจะถูกเทคโนโลยีใหม่โค่นล้มในที่สุด แต่ถ้ามัวแต่ Explore โดยไม่มีฐานธุรกิจปัจจุบันที่แข็งแรง เราก็จะไม่มีเงินทุนพอที่จะสร้างอนาคตได้สำเร็จ มันไม่ใช่การเลือกว่าจะใช้มือซ้ายหรือมือขวา แต่คือการฝึกฝนให้สมองของเราสั่งการมือทั้งสองข้างให้ทำงานที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงได้ในเวลาเดียวกัน